วัดใหญ่ชัยมงคล ตั้งอยู่บริเวณนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประวัติความเป็นมาของวัดใหญ่ชัยมงคล พิจารณาจากหลักฐานสำคัญ อันได้แก่พงศาวดารหลายฉบับ ไปจนถึงตำนานเก่าแก่ สันนิษฐานได้ว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอโยธยา ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่าวัดพญาไทย
จนถึงสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายหลังสงครามยุทธหัตถีกรุงศรีอยุธยาเป็นเอกราช มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง ได้สถาปนาวัดพญาไทยเป็นที่ประทับของพระสังฆราชฝ่ายขวา ซึ่งเป็นฝ่ายอรัญวาสีหรือที่เรียกกันว่าฝ่ายวัดป่าแก้ว พระสังฆราชวัดป่าแก้วจะมีชื่อยศทางสมณศักดิ์ว่า สมเด็จพระพนรัตน์ (บ้างเรียกสมเด็จพระวันรัตน์ อันมีความหมายถึงพระรัตนตรัยที่รุ่งเรืองอยู่ในป่า) สมเด็จพระพนรัตน์พระองค์นี้เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และยังโปรดให้สร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่สวมครอบทับพระเจดีย์องค์เล็กที่มีอยู่แต่เดิม เรียกขานกันต่อ ๆ มา ว่า ชัยมงคลเจดีย์ หรือเจดีย์ที่เป็นอนุสรณ์ถึงสงครามคราวยุทธหัตถี
นอกจากนี้ตามตำนานหรือเรื่องเล่าเก่าแก่ครั้งสมัยกรุงศรี ยังระบุว่าปลายยอดพระเจดีย์ประดับด้วยลูกแก้วสี ที่พระเจ้ากรุงจีน ซึ่งถือเป็นมหาอำนาจของโลกในเวลานั้นถวายมาให้ ประกอบกับหลักฐานทางพงศาวดาร คราวจีนเกิดสงคราม สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจัดกองทหารอาสาพระเจ้ากรุงจีนเข้าช่วยรบ แต่ถูกปฏิเสธ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย
พระขุนแผนเคลือบซึ่งเป็นพระเครื่องอันดับ ๑ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอาจจะเป็นอันดับ ๑ ของประเทศในระยะเวลาอันใกล้ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น เชื่อกันว่าเป็นพระที่มหาราชผู้กู้ชาติเป็นผู้สร้าง คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราชโดยมีสมเด็จพระพนรัตน์อาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นเจ้าพิธี โดยได้รับอิทธิพลจากจีนไม่ว่าจะเป็นรูปแบบทางศิลปและวิทยาการชั้นสูงที่สุดในเวลานั้น
ความงดงามทางศิลปของพระขุนแผนเคลือบทั้ง ๒ พิมพ์ ถือเป็นงานหนักสำหรับผู้มีพุทธิปัญญาเท่านั้นที่จะจรรโลง และสร้างสรรค์งานศิลปเช่นนี้ ซึ่งงานศิลปที่จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศิลปกับศาสนาได้ลงตัวนั้น เป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ผู้ชำนาญทางศิลปทั่วโลก ล้วนเห็นว่าเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญยิ่งกว่างานศิลปใด ๆ
พระขุนแผนเคลือบ เป็นปฏิมากรรม ซึ่งแสดงให้เห็นศิลปที่เน้นลายเส้นหนักเบา สร้างความรู้สึกเป็นหลัก มีความพริ้วไหวแบบธรรมชาติ สร้างความสมดุลย์สวยงามตามหลักศิลปแบบนามธรรม ซึ่งร่วมสมัยเดียวกับจิตรกรรมแบบพู่กันจีน แต่คงความเป็นเอกลักษณ์แบบไทยไว้โดยสมบูรณ์ จัดเป็นต้นแบบของพระพิมพ์ขุนแผนที่ได้จัดสร้างกันต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนกรรมวิธีการสร้าง ใช้วัตถุดิบภายในประเทศอันได้แก่ดินขาว ใช้เทคนิคการเคลือบชั้นสูงของจีน แบบเดียวกับถ้วยชามสังคโลก ถือเป็นพระกรุเพียงกรุเดียวเท่านั้นที่มีการเคลือบด้วยน้ำยา ซึ่งเป็นวิทยาการสูงสุดในสมัยนั้น
พระขุนแผนเคลือบสันนิษฐานว่า ได้แตกกรุออกมาตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา โดยมีผู้ลักลอบขุดกรุหาสมบัติหลายครั้งหลายหน จนเมื่อถึงพ.ศ. ๒๔๗๘ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดใหญ่ชัยมงคลเป็นโบราณสถานของชาติ และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ จึงเริ่มมีพระสงฆ์เข้าไปจำพรรษาในวัดใหญ่ชัยมงคล โดยมีพระครูภาวนารังสี (เปลื้อง เริงเชียร) เป็นผู้บูรณะปฏิสังขรณ์กุฏิ ศาลา รวมทั้งสร้างกุฏิเพิ่มเติมแทรกอยู่ในบริเวณอุโบสถและวิหารด้วย ในเวลานั้นพระครูเปลื้องได้ประสานงานไปทางกรมศิลปากร เข้ามาบูรณะเจดีย์ จึงได้ขุดเจาะเพื่อสำรวจโครงสร้างและความแข็งแรงของรากฐาน ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ท่ามกลางปัญหาและอุปสรรค เนื่องจากมีข่าวลือว่ามีการลักขุดหาสมบัติในองค์เจดีย์ประธาน ได้พระพุทธรูปทองคำจากใต้ฐานกลางองค์เจดีย์แล้วเปิดขุดจากกลางองค์เจดีย์บนชั้นฐานทักษิณกับเปิดเจาะส่วนฐานล่างสุดด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมุ่งตรงไปยังกลางเจดีย์
การขุดค้นพบกำแพงซึ่งสร้างหลอกบังไว้ในยุคหลัง สันนิษฐานเกิดจากการจงใจอำพรางของนักล่าสมบัติ เมื่อทุบผนังนั้นออกพบเป็นช่องทางสำหรับการเข้าไปยังกลางองค์พระเจดีย์ได้ ส่วนด้านบน มีการตรวจสอบจากส่วนกลางองค์พระเจดีย์ลงไปพบว่าตรงกลางองค์พระเจดีย์นั้นได้มีการลักลอบขุดไปแล้วและได้นำเอาเศษอิฐหักกากปูนที่ขุดขึ้นมานั้นกลบลงไปตามเดิม ระหว่างที่นำเอาเศษอิฐหักกากปูนขึ้นมานั้น ปรากฏว่าได้พบร่องรอยของพระเจดีย์เก่าแก่ หลงเหลืออยู่ให้เห็นตั้งแต่ส่วนยอดลงไปจนถึงส่วนฐาน ร่องรอยดังกล่าวนั้นเป็นลักษณะของการลักขุดผ่ากลางองค์พระเจดีย์องค์เล็กนั้นเลย เมื่อมีการเปิดร่องรอยของการทับถมของเศษอิฐฯ ดังกล่าวไปเรื่อยๆ จนถึงระดับพื้นดินส่วนฐานขององค์พระเจดีย์ประธานก็ได้พบอุปกรณ์การลักลอบขุดหลงเหลืออยู่ อาทิ ท่อนไม้ไผ่ที่ทำไว้สำหรับปีนขึ้นลง เทียนไข และที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือได้พบกรุหินชนวน ขนาดประมาณ ๑.๐๐ ม. x ๑.๐๐ ม. สูง ๑.๐๐ เมตร ฝากรุแตกเป็นช่อง แต่คนไม่สามารถลงไปได้ ได้ตรวจดูแล้วไม่พบศิลปวัตถุใดๆ ในกรุดังกล่าว คงพบแต่หัวกะโหลกลิง ๑ หัว อยู่ในกรุนั้น ขณะที่ดำเนินการขุดค้นตรวจสอบนี้ ได้มีกลุ่มคนในวัดใหญ่ชัยมงคล พยายามขัดขวางการทำงานของกรมศิลปากรอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและกรมศิลปากรจึงมีมติร่วมกันเห็นชอบให้ยุติการขุดค้น แล้วจึงอัดฉีดน้ำปูนพร้อมทั้งเทคอนกรีตเสริมเหล็กกลบหลุมเพื่อมิให้มีการขุดค้นอีกต่อไป
แม้บันทึกจากเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้ระบุเช่นนั้น แต่การบูรณะเจดีย์วัดใหญ่เมื่อปี ๒๔๙๙-๒๕๐๐ เป็นที่รู้กันว่าได้พบพระขุนแผนเคลือบจำนวนหนึ่ง จนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ ได้มีการพบพระขุนแผนเคลือบที่วัดเชิงท่า จังหวัดนนทบุรี และเมื่อ วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๐ มีพระขุนแผนเคลือบแตกกรุออกมาอีกครั้ง ที่วัดบ้านกลิ้ง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวนสามสิบกว่าองค์แต่ในจำนวนนี้มีพระแตกหักเสียหายไปหลายองค์ ซึ่งพระทั้ง ๒ กรุล้วนเป็นพระสร้างขึ้นที่วัดใหญ่ชัยมงคล ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทั้งสิ้น
พระขุนแผนเคลือบ เป็นพ