เป็นประจำทุกปี ที่กองกำลังป้องกันตัวเองทางทะเลของญี่ปุ่น (JMSDF) ส่งกองเรือฝึกแวะเดินทางมายังราชอาณาจักรไทยในระหว่างการฝึกประจำปีในปี พศ. 2558 กองเรือฝึกในชื่อ กองเรือคุ้มกันที่ 11 โยโกสุกะ ได้แวะมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยในระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 กุมภาพันธ์ ที่ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ
กองเรือของญี่ปุ่นในปีนี้ มีเรือรบในหมู่เรือ 3 ลำคือ JS Matsuyuki (DD130) JS Yuukiri (DD153) JS Shirayuki (TV3517) มากกว่ากองเรือในปี พ.ศ. 2557 ที่มีเรือในกองเรือ 2 ลำ
ภารกิจในครั้งนี้เป็นการฝึกภาคทะเลด้วยกำลังนักเรียนนายเรือ 110 นายที่สำเร็จหลักสูตรการเรียนจากโรงเรียนนายเรือของ JMSDF ใช้เวลาในการฝึกครั้งนี้ 39 วัน กับระยะทาง 5900 ไมล์ทะเล ไม่ได้เป็นเพียงการฝึกฝนทางเทคนิคการเดินทะเลเท่านั้น แต่ยังเป็นการฝึกฝนการปฏิบัติงานในทะเลหลวงเพื่อให้เหล่านักเรียนมีทักษะในการปฏิบัติงานในระดับสากลโดยมี นาวาเอก มาซามิ คาโต้ ผู้บังคับการหมู่เรือ
การมาเยือนในครั้งนี้ JMSDF ได้เปิดโอกาสให้ชาวญี่ปุ่นที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย และชาวไทย สามารถขึ้นเยี่ยมชมเรือ ชิรายูกิ เรือฝึกหลักของกองเรือได้ในระหว่าง วันที่ 26 และ 27 กุมภาพันธ์ เพื่อเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองชาติ และบ่งบอกถึงความปราถนาดีของกองกำลังญี่ปุ่นในภารกิจครั้งนี้
การเยี่ยมชมเรือในครั้งนี้ กองเรือญี่ปุ่นมีการเตรียการมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ตั้งแต่การเตรียมทางขึ้นเรือที่มีบูธแจกของที่ระลึกก่อนขึ้นเรือ มีโบชัวร์ประวัติของเรือ กองเรือ และ พัด ผู้เข้าชมสามารถทำการขึ้นเรือได้เลยโดยไม่มีการตรวจค้นใดๆ แต่จะมีกำลังพลประจำเรือประจำอยู่ในจุดต่างๆ โดยไม่มีการเดินติดตามเหมือนการชมเรือในปีที่แล้ว เพราะครั้งนี้บนเรือมีการเตรียมเส้นทางชมเรือเอาไว้อย่างชัดเจนเป็นเส้นทางเดินรอบเรือ จุดที่เข้าภายในตัวเรือจะถูกกั้น มีป้ายบอกชัดเจน และมีเจ้าหน้าที่ยืนยามคอยดูความเรียบร้อย ที่น่าสังเกตคือ ในครั้งนี้มีกำลังพลหญิงมาร่วมการฝึกในครั้งนี้ด้วย
บนเรือแม้จะถือว่าเป็นเรือเก่าที่เข้าประจำการมาตั้งแต่ทศวรรศที่ 80 แต่ด้วยการบำรุงรักษาที่ดีเยี่ยม ตัวเรือยังคงอยู่ในสภาพที่ดี สะอาด การจัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆ เป็นระเบียบเรียบร้อย แนวทางเดินพ่นทรายกันลื่นรอบลำเรือ จุดสะดุดบนพื้น หรือจุดที่ผู้ขึ้นมาชมเรือ อาจชนกระแทก จะมีการติดเทป คำเตือน อยู่ตลอดเส้นทาง
เส้นทางการชมเรือจะสามารถชมระบบอาวุธหลักของเรือได้อย่างใกล้ชิดในทุกจุด ตั้งแต่แท่นยิงตอร์ปิโด HOS 301 ขนาด 324 มม. แบบ 3 ท่อยิง แท่นยิงขีปนาวุธแบบ ASROC ปืนเรือขนาด 76 มม. จนมาถึงท้ายเรือ อันเป็นที่ตั้งของแท่นยิงขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานแบบ Sea Sparrow น่าเสียดายที่ปีนี้ไม่มีการเปิดดาดฟ้าท้ายเรือที่เป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งในการออกทะเลครั้งนี้มีการนำเฮลิคอปเตอร์แบบ SH-60J ซีฮอวค์ติดมากับเรือ ยูกิริ เพียงลำเดียว
บริเวณพื้นที่กลางลำเรือจะเห็นอุปกรณ์ส่งลำเลียงกำลังพลหรือผู้ป่วย ส่งต่อไปยังเรือลำอื่นกลางทะเลโดยมีหุ่นที่ใช้ในการฝึกมัดติดอยู่กับเปลลำเลียง ส่วนระบบอาวุธหลักที่ต้องมองจากนอกเรือ คือแท่นยิงขีปนาวุธต่อต้านเรือแบบ Harpoon และแท่นปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 20 มม. CIWS แบบ Phalanx สองแท่นคู่ ที่อยู่ด้านบนของสะพานเดินเรือ
ชิรายูกิ เป็นเรือลำที่ 2 ของเรือในชั้น “ ฮัทซูยูกิ” ที่ถูกสร้างทั้งหมด 12 ลำ เข้าประจำการในปี ค.ศ. 1983 เป็นเรือพิฆาตอเนกประสงค์ มีขีดความสามารถในการป้องกันภัยคุกคามทั้ง 3 มิติ ทั้งการต่อต้านอากาศยาน ต่อต้านเป้าหมายผิวน้ำ และต่อต้านเรือดำน้ำ เพื่อให้กำลังพลมีความคุ้มเคยกับระบบอาวุธพื้นฐานของเรือพิฆาตที่มีประจำการในกองกำลังป้องกันตัวเองทางทะเลของญี่ปุ่น เรือลำนี้จึงทำหน้าที่เป็นเรือฝึกในกองเรือฝึกที่ 1
ในภารกิจครั้งนี้พวกเขาทำออกเดินทางจากญี่ปุ่นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ มุ่งหน้าเดินทะเลตรงไปยัง ประเทศบรูไน และแวะพักในระหว่างวันที่ 16 - 19 กุมภาพันธ์ ก่อนเดินทางมายังประเทศไทย หลังจากเดินทางออกจากประเทศไทย กองเรือจะแวะพักที่ เกาะ คัทซูเร็น ในวันที่ 8-11 มีนาคม
ในช่วงเช้าของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เรือในหมู่เรือทั้ง 3 ทำการถอนเชือกโยงยึดอออกจากท่าเรือที่ละลำ โดยมีครอบครัว เจ้าหน้าที่ชาวญี่ปุ่น และคณะของกองทัพเรือ พร้อมวงดุริยางค์ทหารเรือ มาทำพิธีการส่งหมู่เรือ โดยมีการโบกหมวกอำลาที่เจ้าหน้าที่ประจำเรือจะออกมายืนด้านข้างกราบเรือและโบกหมวกอำลาเมืองท่าที่ได้มาเยือนก่อนกลับเข้าภารกิจการฝึกอีกครั้งจนกว่าจะกลับถึงฐานทัพเรือโยโกซูกะ อันเป็นการสิ้นสุดภารกิจในครั้งนี้ในวันที่ 15 มีนาคม