-----------------------------------------------------------------------------
ประกาศใน รจ. 119 ง ตอนที่ 43 วันลง รจ. 28 พฤษภาคม 2545
ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
-------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
แห่งชาติ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ
ของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 48 มาตรา 50 และมาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษ และ
โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายนน้ำทิ้งจาก
สถานีบริการน้ำ
มันเชื้อเพลิงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
“สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง” หมายความว่า สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ประเภทที่ 1 ตาม
ประกาศกรมโยธาธิการ เรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ประเภทที่ 1 ฉบับ
ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2538 และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ประเภทที่ 2 ตามประกาศ
กรมโยธาธิการ เรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ประเภทที่ 2 ฉบับลงวันที่
30 มิถุนายน พ.ศ. 2538
“น้ำทิ้ง” หมายความว่า น้ำเสียที่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสียแล้วจนเป็นไปตามมาตรฐานควบคุม
การระบายน้ำทิ้งตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
ข้อ 2 มาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีค่า ดังต่อไปนี้
(1) ความเป็นกรดและด่าง (pH Value) ระหว่าง 5.5 ถึง 9.0
(2) ซีโอดี (Chemical Oxygen Demand) ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร
(3) สารแขวนลอย (Suspended Solids) ไม่เกิน 60 มิลลิกรัมต่อลิตร
(4) น้ำมันและไขมัน (Fat Oil and Grease) ไม่เกิน 15 มิลลิกรัมต่อลิตร
ข้อ 3 การเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งให้เก็บแบบจ้วง (Grab Sampling) จากจุดที่สถานีบริการ
น้ำมันเชื้อเพลิงระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อม ในกรณีที่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงมีการระเบียบน้ำทิ้ง
หลายจุดให้เก็บทุกจุดที่มีการระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อม
ข้อ 4 การตรวจสอบค่ามาตรฐานน้ำทิ้งจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงให้ใช้วิธีการ ดังต่อไปนี้
(1) ค่าความเป็นกรดและด่าง ให้ใช้เครื่องวัดความเป็นกรดและด่างของน้ำ (pH Meter)
(2) ค่าซีโอดี ให้ใช้วิธีย่อยสลายโดยโปตัสเซียมไดโครเมต (Potassium Dichromate Digestion)
(3) ค่าสารแขวนลอย ให้ใช้วิธีการกรองผ่านกระดาษกรองใยแก้ว (Glass Fiber Filter Disc)
(4) ค่าน้ำมันและไขมัน ให้ใช้วิธีสกัดด้วยตัวทำละลายแล้วแยกหาน้ำหนักของน้ำมันและไขมัน
ข้อ 5 การตรวจสอบค่ามาตรฐานน้ำทิ้งจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามข้อ 4 ต้องเป็นไปตาม
คู่มือวิเคราะห์น้ำเสียที่สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยกำหนดไว้หรือตามวิธีการมาตรฐาน
สำหรับการวิเคราะห์น้ำและน้ำเสีย (Standard Methods for the Examination of Water and Wastewater)
ที่ American Public Health Association, American Water Work Association และ Water Environment
Federation ของสหรัฐอเมริกา ร่วมกันกำหนดไว้
ประกาศ ณ วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2545
สนธยา คุณปลื้ม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
------------------------------------------------------------------------------
ประกาศใน รจ. 119 ง ตอนที่ 43 วันลง รจ. 28 พฤษภาคม 2545