การศึกษาเรื่องของภาษาในสาขาวิชาภาษาศาสตร์นี้ มีเรื่องที่ทำการศึกษากันมากมาย ซึ่งแต่ละเรื่องย่อมมีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด แต่ที่สามารถแยกออกจากกันเป็นเรื่อง ๆ ได้ก็เพราะต้องมีจุดเน้นโดยเฉพาะของตนคือ ศึกษาภาษาเหมือนกันแต่คนละด้าน เช่น
- ศึกษาทฤษฎีการศึกษาภาษาอย่างกว้าง ๆ เรียกว่า ภาษาศาสตร์ทั่วไป (General Linguistics) จะศึกษาทฤษฎีต่าง ๆ ทางภาษาศาสตร์
- ศึกษาลักษณะภาษาเท่าที่ใช้อยู่ในสังคมปัจจุบัน เรียกว่า ภาษาศาสตร์วรรณนา (Descriptive Linguistics) เป็นวิธีการศึกษาภาษาใด ภาษาหนึ่ง ในระยะเวลาเดียว การที่เราวิเคราะห์ภาษาก็คือวิธีนี้
- ศึกษาวิวัฒนาการทางภาษาต่างยุคสมัยกัน เรียกว่า ภาษาศาสตร์เชิงประวัติ (Historical Linguistics) เป็นการศึกษาวิวัฒนาการหรือประวัติความเป็นมาของภาษา เช่น เราพูดถึงภาษาไทยว่าเป็นอย่างไร เริ่มแต่สมัยไหน เปลี่ยนแปลงอย่างไร
- ศึกษาภาษาโดยการเปรียบเทียบลักษณะของภาษา หรือเปรียบเทียบระหว่างภาษาที่ต่างกัน เรียกว่าภาษาศาสตร์เปรียบเทียบ เช่น การเปรียบเทียบภาษาในกลุ่ม ภาษา Germanic ก็เรียกชื่อเฉพาะลงไปว่า Comparative Germanic Linguistics หรือ การนำภาษาเดียวกัน แต่ระยะเวลาต่างกันมาเปรียบเทียบกันหรือต่างภาษาในระยะเวลาเดียวกัน