การสะเดาะเคราะห์ เป็นพิธีกรรมหนึ่งที่จัดขึ้นในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสบายใจแก่ผู้กระทำ ดังที่ พระครูปทุมสังฆการ (2554,หน้า 27) ได้ให้ความหมายของการสะเดาะเคราะห์ไว้คือ การทำให้ความโชคร้าย ความไม่ดี ออกไปให้พ้นจากตัวจากชีวิต
การลอยกระทงของคนไทยนอกจากจะมีความเชื่อตามตำนานทั้ง 5 ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นยังมีความเชื่อที่คนไทยยึดถือปฏิบัติตามกันมา ดังที่ ความเชื่อเรื่องการลอยกระทง (ออนไลน์) ได้กล่าวถึงธรรมเนียมปฏิบัติในการลอยกระทง ว่า “การตัดเล็บ ตัดผม เศษอวัยวะต่างในร่างกาย และเศษเสื้อผ้าที่ใช้แล้วใส่ลงไปในกระทง แล้วตั้งจิตอธิษฐานขอให้เคราะห์ร้ายหายไป แล้วลอยไป โดยเชื่อว่าเป็นการตัดโศก สะเดาะเคราะห์ต่างๆให้หลุดไปในกระทง โดยปัจจุบันมีการนำเหรียญหรือธนบัตรใส่ลงไปในกระทง เพราะเชื่อว่าเป็นการนำมาซึ่งความร่ำรวย และเป็นการตัดเคราะห์เช่นเดียวกับการใส่เศษเล็บหรือผมลงไป” ซึ่งความเชื่อนี้แสดงให้เห็นถึงการสะเดาะเคราะห์โดยใช้สายน้ำ โดยอาจจะเป็นการได้รับอิทธิพลในเรื่องของการล้างบาปในศาสนาฮินดู เพราะศาสนาฮินดูมีความเชื่อว่าน้ำในแม่น้ำคงคานั้นสามารถช่วยล้างบาปของมนุษย์ได้ ที่เป็นดังนี้เพราะเป็นสายน้ำที่ไหลมาจากพระเกศาของพระอิศวร ดังที่ ตำนานแม่คงคา (ออนไลน์) ได้กล่าวถึงประวัติของพระแม่คงคา ไว้ดังนี้ พระแม่คงคาเป็นพระธิดาองค์โตของท่านท้าวหิมวัตกับพระนางเมนา และเป็นพี่สาวของพระนางอุมา ทั้งสองเป็นพระชายาของพระศิวะแห่งเขาไกรลาส เดิมทีนั้นแม่คงคาไหลเวียนไม่ไปไหนจากนิ้วเท้าของพระศิวะ แต่สาเหตุที่พระคงคาเปลี่ยนทิศทางไหลลงมาที่โลกมนุษย์ก็เพราะว่า พระแม่คงคาถูกท้าวสักราชอัญเชิญลงมาสู่โลกมนุษย์มานานแล้วหลายชั่วคน จนสำเร็จในสมัยของท้าวภคีรถ แต่ด้วยอิทธิฤทธิ์ความแรงของพระแม่คงคา ซึ่งมีผลให้โลกอาจกล่มสลายได้เลย พระศิวะเจ้าจึงได้รองรับพระแม่คงคาด้วยมวยพระเกศก่อนที่จะปล่อยลงสู่โลกมนุษย์ ด้วยเหตุนี้น้ำในแม่น้ำ คงคาจึงถือว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เมื่อความเชื่อนี้มาถึงประเทศไทย จึงเรียกเทพเจ้าแห่งสายน้ำว่า พระแม่คงคา และยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับแม่น้ำคงคาอยู่ จึงได้เกิดการลอยสิ่งต่างๆในแม่คงคานั้น เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ ชำระบาป คือความไม่ดีออกไปจากตัวนั่นเอง