คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (2543, หน้า180) ได้กล่าวถึงประวัติของพระพุทธเจ้าซึ่งสัมพันธ์กับการลอยกระทงดังนี้ “เมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลากลางคืนด้วยม้ากัณฐกะ พร้อมนายฉันนะมหาดเล็กผู้ตามเสด็จ ครั้นรุ่งอรุณก็ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที เจ้าชายทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำไปโดยสวัสดี เมื่อทราบว่าพ้นเขตกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จลงมาประทับเหนือหาดรายขาวสะอาด ตรัสให้นายฉันนะนำเครื่องประดับและม้ากัณฐกะกลับพระนคร ทรงตั้งพระทัยปรารภจะบรรพชาโดยเปล่งวาจา “สาธุ โข ปพฺพชฺชา”แล้วจึงทรงจับพระเมาลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ตัดพระเมาลี แล้วโยนขึ้นไปในบนอากาศ พระอินทร์ได้นำผอบทองมารองรับพระเมาลีเอาไว้ และนำไปบรรจุยังพระจุฬามณี เจดีย์สถานในเทวโลก เหล่าเทวดาจึงเหาะมาบูชาเจดียสถานนี้เสมอ แม้กระทั่งพระศรี อริยเมตไตรย เทวโพธิสัตว์ซึ่งในอนาคตจะมาจุติเป็นพระพุทธเจ้าบนโลก ก็มาบูชาด้วย” ฉะนั้นแล้ว การลอยโคม (เป็นการลอยกระทงรูปแบบหนึ่งของภาคเหนือ)จึงเป็นไปตามความเชื่อในเรื่องของการบูชาพระเมาลีของพระพุทธเจ้าที่ประดิษฐานไว้ที่พระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์