ข้อมูลวัดถ้ำปลา
วัดถ้ำปลาตั้งอยู่ที่ดอยจ้อง หมู่ 5 ตำบลโป่งาม อำเภอแม่สาย ห่างจากอำเภอแม่สายไปทางทิศใต้ตามทางหลวงหมายเลข 110 ประมาณ 12 กิโลเมตร มีทางแยกเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ดอยจ้องเป็นภูเขาหินปูน จึงประกอบด้วย ถ้ำหินงอก หินย้อย และทางน้ำไหลมากมาย และยังเป็นถ้ำที่มีประเพณีประจำปีในการทำบุญในวันแรม 9 ค่ำเดือน 6 ของทุกปี ชาวบ้านเรียกประเพณี ถ้ำปุ่มถ้ำปลา ถ้ำปุ่ม อยู่สูงขึ้นไปบนยอดเขา ต้องปืนขึ้นไป ภายในถ้ำมืดมาก ต้องมีผู้นำทางเที่ยวชม ถ้ำปลา เป็นถ้ำหนึ่งที่มีน้ำไหลภายในถ้ำ เคยมีปลาชนิดต่างๆ ทั้งใหญ่น้อยว่ายออกมาให้เห็นเป็นประจำ ภายในถ้ำยังมีพระพุทธรูปศิลปะพม่า สร้างขึ้นโดยพระภิกษุชาวพม่า ประชาชนทั่วไปเรียกว่า พระทรงเครื่องเป็นที่เลื่อมใสของประชาชนในแถบนี้
ตำนานถ้ำปลา
ตามตำนานโยนกกล่าวว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์และออกบิณฑบาตที่เมืองโยนกนาคะนครไชยบุรีศรีช้างแสน ได้ดำเนินเลียบเชิงเขามายังถ้ำลอดเปลวปล่องฟ้า ปรากฏว่ามีชาวบ้านนำปลาหนีบไม้ปิ้งมาใส่บาตร ได้ทรงอธิฐานให้ปลากลับมีชีวิตแล้วปล่อยลงรูเหวในถ้ำเปลวปล่องฟ้า พระอานนท์ก็เทน้ำออกจากบาตร เกิดเป็นธารน้ำไหลออกมาทางหน้าผาด้านตะวันออก เกิดเป็นถ้ำปลา จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงนำก้อนหินปิดรูเหวที่เทน้ำลงไป และนำเส้นพระเกศาไว้ในหินให้เป็นที่สักการะบูชาของคนต่อไป จนกระทั้งราวพุทธศตวรรษที่ 15 เจ้าอุชุตราช ผู้ครองโยนกนคร ได้สถาปนาพระเจดีย์และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในถ้ำปลา
ลักษณะของถ้ำปลา
มีลักษณะเป็นลำธารเล็กๆไหลออกจากใต้ภูเขาหินปูน ไหลทะลุผ่านภูเขาหลายเส้นทางโดยไหลออกทางหน้าปากถ้ำปลาด้านทิศตะวันออกสายน้ำเหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากน้ำตกห้วยเนี้ย ถ้ำนี้วัดความกว้างได้ประมาณ 2.50 เมตร ความสูงวัดจากฝั่งน้ำขึ้นไป สูงประมาณ 1.50 เมตร น้ำลึกประมาณ 0.50 เมตร ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นที่อยู่ของปลาดั้งเดิม คือ ปลาพวงเงิน ปลาไม้หีบ ตลอดจนปลาที่นักท่องเที่ยวนั้นนำมาปล่อย ได้แก่ ปลาดุก ปลาคร๊าฟ ปลาไหล ปลาทับทิม เต่า ปลาเงินปลาทอง ปลาไน ฯลฯเป็นต้น แต่เนื่องมาจากไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร อีกทั้งนักท่องเที่ยวให้อาหารปลาจำนวนมาก ปัจจุบันจึงมีน้ำสีคล้ำ ถ้ำปลามีปลาที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งเกี่ยวข้องกับตำนานที่เรียกว่า “ปลาหีบหนีบปิ้ง” ซึ่งไม่มีใครพบเห็นตัวมานานแล้ว ในอดีตถ้ำปลานี้นักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปในถ้ำได้ลึกประมาณ 10 เมตรและมักจะพบเศษกระเบื้องดินเผา(ดินขอ) สมัยโบราณไหลมาตามน้ำด้วยนอกจากนี้บริเวณปากน้ำยังพบก้อนหินขนาดใหญ่ 3 ก้อนและลำธารที่น้ำไหลออกมานี้มีความลึก ประมาณ 3 เมตร ปลาพวงเงินและปลาไม้หีบ สามารถแหวกว่ายไปมา มองเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในตอนเช้าตรู่ พระ สามเณร และเด็กวัดมักจะให้ข้าวปู่จา (ข้าวที่เหลือจากการฉันขอพระ)เป็นอาหารต่อมาประมาณปี พ.ศ 2526พระสงฆ์ที่จำพรรษา ชื่อ พระสามซึ่งตาบอดทั้ง 2 ข้างได้ปรับปรุงและบูรณะปฎิสังขรณ์โดยขุดลอกขยายบริเวณปากถ้ำปลาและปรับก้อนหินให้เป็นบันไดทางเข้าถ้ำปลาบริเวณที่ต่อเนื่องกับเปลวปล่องฟ้าซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้