ธวัช รัตนมนตรี(2545, หน้า 64) ได้กล่าวถึงนิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับตำนานการลอยกระทงไว้ดังนี้ “เมื่อครั้งดึกดำบรรพ์มีกาเผือกสองตัวผัวเมียทำรังอยู่บนต้นไม้ในป่าหิมพานต์ใกล้ฝั่งแม่น้ำ วันหนึ่งกาตัวผู้ออกไปหากินแล้วหลงทางกลับรังไม่ได้ ปล่อยให้นางกาตัวเมียซึ่งกกไข่อยู่ 5 ฟองรอด้วยความกระวนกระวายใจ จนมีพายุใหญ่พัดรังกระจัดกระจาย ฟองไข่ตกลงน้ำ แม่กาถูกลมพัดไปทางอื่น เมื่อแม่กาย้อนกลับมาที่รังไม่พบฟองไข่ จึงร้องไห้จนขาดใจตาย ไปเกิดเป็นพกาพรหมอยู่พรหมโลก ฟองไข่ทั้ง 5 นั้นลอยน้ำไปในสถานที่ต่างๆ บรรดาแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์ มาพบเข้า จึงนำไปรักษาไว้ตัวละ 1 ฟอง ครั้นถึงกำหนดฟักกลับกลายเป็นมนุษย์ทั้งหมด ไม่มีฟองไหนเกิดมาเป็นลูกกาตามชาติกำเนิดเลย กุมารทั้ง 5 ต่างเห็นโทษภัยในการเป็นฆราวาสและเห็นอานิสงส์ในการบรรพชา จึงลามารดาเลี้ยงไปบวชเป็นฤๅษี ต่อมาฤๅษีทั้ง 5 ได้มีโอกาสพบปะกันและถามถึงนามวงศ์และมารดาของกันและกัน จึงทราบว่าเป็นพี่น้องกัน ฤๅษีทั้ง 5 มีนามดังนี้
คนแรก ชื่อ กกุสันโธ (วงศ์ไก่)
คนที่สอง ชื่อ โกนาคมโน (วงศ์นาค)
คนที่สาม ชื่อ กัสสโป (วงศ์เต่า)
คนที่สี่ ชื่อ โคตโม (วงศ์โค)
คนที่ห้า ชื่อ เมตเตยโย (วงศ์ราชสีห์)
ต่างตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าต่อไปจะได้ไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้าขอให้ร้อนไปถึงมารดา ด้วยแรงอธิษฐานท้าวพกาพรหมจึงเสด็จมาจากเทวโลก จำแลงองค์เป็นกาเผือก แล้วเล่าเรื่องราวแต่หนหลังให้ฟัง พร้อมบอกว่าถ้าคิดถึงมารดา เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 11 เดือน 12 ให้เอาด้ายดิบ ผูกไม้ตีนกาปักธูปเทียนบูชาลอยกระทงในแม่น้ำทำอย่างนี้เรียกว่าคิดถึงมารดา แล้วท้าวพกาพรหมก็ลากลับไป ตั้งแต่นั้นมาจึงมีการลอยกระทงเพื่อบูชาท้าวพกาพรหม ส่วนฤๅษีทั้ง 5 ต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า คือ
ฤๅษีองค์แรก ชื่อ กกุสันโธ คือ พระพุทธเจ้า พระนามว่าพระกกุสันโธ
ฤๅษีองค์ที่สอง ชื่อ โกนาคมโน คือ พระพุทธเจ้า พระนามว่าพระโกนาคมน์
ฤๅษีองค์ที่สาม ชื่อ กัสสโป คือ พระพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ
ฤๅษีองค์ที่สี่ ชื่อ โคตโม คือ พระพุทธเจ้า พระนามว่า พระสมณโคดม
ฤๅษีองค์ที่ห้า ชื่อ เมตเตยโย คือ พระพุทธเจ้า พระนามว่า พระศรีอาริยเมตไตรย”
จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่าตำนานเรื่องที่ 3 นี้ การลอยกระทงนั้นสัมพันธ์กับความกตัญญูกตเวทีที่ลูกกามีต่อแม่กาเผือกและสัมพันธ์กับตำนานการเป็นพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ตามศาสนาพุทธ ถึงแม้ว่าตามตำนานนี้จะมีความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์อยู่บ้าง คือเรื่องของพราหมณ์หรือพรหม แต่ก็เป็นเพียงประเด็นเล็กๆ ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะว่าศาสนาพุทธกับพราหมณ์มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้