1. ท่านให้หาไม้โพธิ์นิพพาน คือกิ่งต้นโพธิ์ชี้ไปทางทิศตะวันออก ตายพราย(ตายเอง) และหักตกลงมาเอง มาแกะเป็นพระยืนปางห้ามสมุทร ขนาดสูงเท่ากับ 11-13 นิ้วหัวแม่มือของผู้สร้าง เจาะที่พระเมาลีเพื่อแกะไม้ชุมแสงหรือไม้กาหลงเป็นเปลวรัศมีเสียบให้แน่น ส่วนที่ฐานรองพระบาท ท่านให้เอาไม้ขนุน ให้ทำภายในกลวงเพื่อบรรจุของวิเศษหลายสิ่ง(จะกล่าวต่อไป) ทำลิ้นเพื่อรองไม้นนทรีที่รองพระบาท ให้ไม้นนทรีนี้แนบกับลิ้นพอดี
2. พิธีแกะไม้โพธิ์นิพพานนี้ ต้องหาฤกษ์งามยามดี เตรียมเครื่องบูชาครู เช่นธูปเทียน บายศรี ข้าวตอก ดอกไม้ แลเครื่องสักการบูชาให้ดี นายช่างผู้แกะหากเป็นพระสงฆ์ ให้สำแดงอาบัติเสียก่อน ถ้าเป็นฆารวาส ให้นุ่งชาวห่มขาว สมาทานศีล 5 ศีล 8 เสียก่อน นิมนต์พระอย่างน้อย 5 รูป สวดชยันโตขณะลงมือแกะ
3. ของวิเศษที่กำหนดให้บรรจุลงในฐานพระโพธิ์นิพพาน ท่านให้นำเอา
3.1 เครื่องยา มีจันทน์เทศ จันทน์แดง จันทน์ขาว จันทน์ชะมด จันทน์นิพพาน
3.2 ใบไม้ มีใบมะยม ใบมะเฟือง ใบมะขาม ใบส้มป่อย ใบไม่รู้นอน ใบสวาสดิ์ ใบธรณีสาร ใบกระทืบยอด ใบมหาระงับ ใบสารพัดพิษ
3.3 ตะใคร่โบสถ์ ตะใคร่พระเจดีย์ ตะใคร่พระปรางค์ ตะใคร่พัทธเสมา ตะใคร่ประตูเมือง ตะใคร่เสาตลุง ช้าง ตะใคร่ศรีมหาโพธิ์ (นำมาของทั้งสามนี้มาโขลกให้ละเอียด นำมาผสมกันไว้เพื่อบรรจุต่อไป เรียกว่าเครื่องยา)
3.4 เครื่องหมายแห่งทรัพย์สมบัติ ท่านให้นำบรรจุ “นพเก้า” มี เพชร มณีแดง(ทับทิม) เขียวไขแสง(มรกต) เหลืองสดบุษราคัม ม่วงดำโกเมนทร์เอก มหาเมฆนิลกาฬ มุกดาหารสีหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลสายเพชรฑูรย์แก้ว
3.5 โลหะ 7 สิ่ง(สัตตะโลหะ) มี ทอง นาค เงิน เหล็ก ตะกั่ว นม ทองแดง นำมากร่าง(บด)ให้เป็นผงรวมกัน ใช้บรรจุร่วมกับนพเก้า
3.6 เงินบริสุทธิ์ น้ำหนัก 1 บาท แผ่ให้เป็นแผ่นเพื่อลงยันต์ดวงพิชัยสงคราม(ดวงชะตาและอักขระเลขยันต์ตำรับมหาพิชัยสงคราม)
3.7 พระธาตุต่าง ๆ มีพระธาตุพระฉิมพลี พระธาตุพระโมคคัลลาน์ พระธาตุพระสาริบุตร พระบรมสารีริกธาตุ(พระธาตุของพระพุทธเจ้า) และพระอรหันต์ธาตุอื่น ๆ ตามแต่จะหาได้
การดำเนินการสร้างนี้จะต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด ถูกต้อง เพื่อความร่มเย็นแก่ตนและครอบครัว ดังนั้นผู้ประสงค์จะสร้างพระประจำตัว จักต้องเป็นผู้รอบรู้ ชำนาญ แลทั้งยังต้องศึกษาให้ถ่องแท้ จึงจะประสบผลสำเร็จสมประสงค์ทุกประการ
บิดาครูสร้างพระโพธิ์นิพพานแต่ครั้งที่ท่านบวชเป็นพระภิกษุ เรียนวิชาทั้งไสยเวทย์และโหราศาสตร์จนเจนจบ ได้ปรากฏในห้องบูชาพระประจำบ้านแต่ครั้งครูยังเด็กและจำความได้ ปัจจุบันพระองค์นี้ยังปรากฏอยู่ที่ในห้องพระของพี่สาวครู และยังจำได้ว่าบิดาเคยเล่าความเป็นมาของการสร้างพระองค์นี้ ว่าครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข มั่นคงตราบจนถึงปัจจุบัน
ต่อไปคือสิ่งที่ต้องจัด (ขาดมิได้)
- แพร ๙ สีตามสีของนพเคราะห์สีละผืนกว้างยาวประมาณพอที่จะห่อแผ่นดวงลงยันต์กำกับทุกๆสี
-แผ่นเงิน ๒ แผ่นลงดวงพระชะตาพระพุทธเจ้าตอนประสูติและตรัสรู้ได้แผ่นละหนึ่งดวง
- แผ่นทองคำ ๔ แผ่นจารึกพระนามพระพุทธเจ้า พระสารีบุตร พระโมคคัลลาน์ พระสีวลี ห่อพระบรมธาตุและพระธาตุตามเฉพาะพระนามนั้นๆ
- จัดหาหัวน้ำหอม ๙ อย่างใส่ในโถ แป้งหอมละลายน้ำมันหอม โถชาติหรคุณบดให้ละเอียด และเตรียมชันนางโลมใต้ดินไว้สำหรับอุดยารอยที่บรรจุ
เมื่อเวลาบรรจุนั้นให้หาฤกษ์งามยามดีจริงๆจึงจะจัดการบรรจุได้การบรรจุนั้นให้ประกอบพิธีกรรมในพระอุโบสถนิมนต์พระสงฆ์มาร่วมประกอบพิธีถ้าจะให้พระสงฆ์เป็นผู้บรรจุก็ให้นิมนต์พระรวม ๑๑ องค์คือ
- จัดให้เป็นผู้บรรจุองค์หนึ่ง
- จัดให้เป็นผู้นั่งปรกบริกรรมองค์หนึ่ง
- จัดให้เป็นพระสำหรับเจริญพระพุทธมนต์ ๙ องค์
นอกจากนั้นให้เชิญโหร , บัณฑิต , พราหมณ์ , มาร่วมประกอบพิธีด้วย โหรมีหน้าที่อ่านประกาศเทวดา บูชาฤกษ์ และสวดสังเวยเทพยดา พราหมณ์มีหน้าที่มาเป่าสังข์ แกว่งบัณเฑาะว์ เมื่อเวลาทำการบรรจุ เบิกแว่นเวียนเทียนตอนเบิกพระเนตร และถวายน้ำสังข์พระพุทธรูปที่สร้างเสร็จแล้ว บัณฑิตมีหน้าที่จำเริญภาวนาพระคาถา
วันประกอบพิธีนี้ต้องจัดเครื่องสังเวยจัดเป็นสามชุดด้วยกันชุดที่ ๑ เป็นเครื่องสำหรับบูชาครูบาอาจารย์และเทวดาเมื่อเริ่มประกอบพิธีชุดนี้เป็นเครื่องสังเวยชุดใหญ่ประกอบไปด้วยบายศรีใหญ่ ๑ คู่บายสีที่ทำเป็นชั้นๆ ๕ ชั้นหรือ ๗ ชั้นตามแต่ความต้องการตรงยอดทำเป็นพุ่มดอกไม้ควรหาแหวนเงิน,แหวนทอง,สวมใส่ไว้ที่ยอดเป็นการทำขวัญเครื่องมัจฉะมังสาหาร๖ประการอันประกอบด้วยหัวหมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปูทะแล ปลาช่อน พร้อมน้ำจิ้มและมีพล่าหรือยำด้วย
เครื่องกระยาบวดอันประกอบด้วยบายศรีปากชาม ๑ มะพร้าวอ่อน ๑ กล้วยน้ำไทย ๑ ขนมต้มแดง ๑ ขนมต้มขาว ๑ จะเพิ่มขนมเล็บมือนางหรือขนมหูช้างขึ้นอีกก็ได้ขนมแกงบวด ๑ (จะเป็นแกงบวดฟักทองหรือมันเทศก็ได้)ขนมจับอัน ๑ ถั่วคั่ว ๑ งาคั่ว ๑ ข้าวตอกคั่วระคนด้วยดอกไม้เช่นทองหยิบฝอยทองฯลฯเหล่านี้ ๙ ชนิดด้วยกัน ๑ ผลไม้มีรสหวานต่างๆรวม ๙ สิ่งเลือกเอาแต่ที่มีมงคลนามเฉพาะลูกทับทิมนั้นจะขาดเสียมิได้