วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
ตอนพิเศษ: 10.1 ต้นกำเนิดแห่งชา (ภาคต้น)
วัฒนธรรมชานั้นเกิดขึ้นในดินแดนจีนมานานมาก แต่ว่านานเท่าไหร่ก็ไม่ใคร่จะมีคนให้ข้อสังเกตหรือสรุปได้ เรื่องต้นกำเนิดของชานี้ผมเองแพลนเอาไว้ว่าจะเขียนถึงอยู่แล้วนะครับรอแค่เวลาเท่านั้น ช่วงนี้ก็ยุ่ง ๆ อีกเหมือนเคยครับ พอดีวันนี้มิตรสหายท่านหนึ่งแชร์คลิบของนักธุรกิจใหญ่ท่านหนึ่งไปเยี่ยมเยือนเมืองผู่เอ๋อร์พร้อมกับจั่วหัวเอาไว้ว่า "ผู่เอ๋อร์ต้นตำรับแห่งชา" ซึ่งผมเองไม่ใคร่จะเห็นด้วยซักเท่าใดนัก จึงเป็นที่มาของการหยิบเรื่องต้นกำเนิดแห่งชามานำเสนอทุกท่านในวันนี้ เรื่องในตอนนี้จะนำเสนอที่มาและต้นกำเนิดของชาตั้งแต่ยุคปรัมปราของจีนและแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของวัฒนธรรมชาโดยคร่าว ๆ ไล่จากเริ่มแรกจนมาถึงปัจจุบันนะครับ ดังนั้นคิดว่าตอนนี้คงยาวแน่ ๆ
ประเทศจีนนั้นยุคที่มีการบันทึกเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนเห็นจะมีตั้งแต่สมัย ซาง (商) -โจว (周) ลงมา ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของเมื่อกว่าสามพันเจ็ดร้อยปีผ่านมาแล้ว ทว่าก่อนหน้ายุคซางโจวแล้วยังมียุคเทวตำนานอีกยุคหนึ่งซึ่งหากนับจากปัจจุบันไล่ย้อนขึ้นไปถึงยุคนั้นจะต้องเป็นหลักหมื่นปี ยุคนี้เรียกว่ายุค 三皇五帝 (ซันหวงอู่ตี้) หรือยุคสามจอมจักรพรรดิ์ห้าราชาธิราช ความสำคัญของยุคที่กล่าวถึงนี้เป็นยุคที่ก่อเกิดเรื่องราวมากมายอันเป็นรากฐานของขนบธรรมเนียมประเพณีไม่ว่าจะในเรื่องของศาสนา วิถีชีวิตความเป็นอยู่การเมืองการปกครอง ทั้งหลายล้วนถูกอ้างว่ากำเนิดจากยุคเทวตำนานนี้ทั้งสิ้น
อ่าน ๆ ดู ท่านคงจะงงว่านี่มันเขียนเรื่องอะไรของมันกันแน่? ไม่เห็นจะเกี่ยวกับชาตรงไหน. ครับมันต้องปูก่อนนิดหนึ่งนะครับ ลองตามต่อนะครับ.
ยุคสามจอมกษัตริย์นั้นเรื่องราวเล่าว่ามีสามจอมจักรพรรดิ์คือจักพรรดิฟ้า (天皇/เทียนหวง) จักรพรรดิดิน (地皇/ตี้หวง) และจักรพรรดิคน (人皇/เหรินหวง) จักพรรดิฟ้านามว่าฝูซี (伏羲) หัวเป็นคนตัวเป็นงู จักพรรดิดินนามว่าหนี่วา (女娲) หัวเป็นคนตัวเป็นงูเช่นกัน จักพรรดิดินเป็นหญิงจักพรรดิฟ้าเป็นชาย ส่วนจักรพรรดิคนนั้นนามว่าเสินหนง (神农) หัวเป็นวัวตัวเป็นคน เรื่องราวของต้นกำเนิดชาเกี่ยวพันกับเสินหนงนี้เองครับ นามของเสินหนงนั้นแปลว่าเทพเจ้าแห่งการกสิกรรม การทำไร่ไถนามาจากเสินหนงนี่เองเป็นผู้คิดค้นขึ้น อีกประการคือการแพทย์เกิดขึ้นเพราะเสินหนงนี้เช่นกัน ตำรายาสมุนไพรฉบับแรกที่กำเนิดขึ้นในโลกชาวจีนถือว่าเป็นเพราะเสินหนงนี้เอง
ตามตำนานกล่าวว่าขณะนั้นในโลกยังปรากฎพืชพันธุ์ไม่มาก เสินหนงคิดอยากทดลองดูว่าพืชพันธุ์แต่ละอย่างนั้นรสชาติเป็นอย่างไรและมีสรรพคุณอย่างไร จึงไล่หยิบพืชเหล่านั้นเข้าปากเคี้ยวแล้วพิจารณาว่ามีรสอย่างไร มีพิษอย่างไร ทั้งสิ้นร้อยชนิด จึงมีคำกล่าวถึงตอน "神农尝百草" (เสินหนงฉ่างไป๋เฉ่า) เสินหนงชิมพืชพันธุ์ร้อยชนิด และจากการชิมครั้งนี้เองได้เกิดตำรา 神农本草经 (เสินหนงเปิ่นเฉ่าจิง) ตำราพืชสมุนไพรของเสินหนงอันเป็นแบบให้แพทย์จีนใช้กันสืบมา ในตำรากล่าวถึงสรรพคุณของพืชสมุนไพรหลายชนิด ที่มีพิษ ที่ไม่มีพิษ และที่แก้พิษ ตอนหนึ่งว่าเอาไว้ว่า “神农尝百草,日遇七十二毒,得茶而解之" แปลความได้ว่า"เสินหนงชิมพืชร้อยชนิดได้รับพิษเข้าไปมากถึงเจ็ดสิบสองประการเมื่อชิมชาลงไปพิษทั้งหลายก็สลายหายไปสิ้น" นี่แหละครับบันทึกแรกที่มีการอ้างถึงชาเอาไว้ ว่าชามีสรรพคุณขับพิษสลายร้อนในร่างกาย แรกเริ่มผู้คนบริโภคชาด้วยการเคี้ยวกิน (เหมือนการกินเมี่ยง) ต่อมาจึงใช้ใบสดต้มใส่น้ำ เรื่องเสินหนงนี่อาจจะเป็นเรื่องเล่าไปสักหน่อยเพราะมันตั้งหมื่นปีที่ผ่านมาแล้วนะครับ 555
บันทึกที่อยู่ในขอบเขตที่เชื่อถือได้กว่านั้นก็จะมีบันทึก 晏子春秋 (เยี่ยนจึชุนชิว) รจนาโดยท่าน 晏婴 (เยี่ยนอิง) เสนาบดีสมัยชุนชิวช่วงก่อนคริสต์ศักราชห้าร้อยปีถึงวันนี้ก็ไม่ต่ำกว่าสองพันห้าร้อยปีผ่านมาแล้ว บันทึกมีทั้งสิ้นสองร้อยสิบห้าบท กล่าวถึงการเดินทางและอรรถาธิบายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีขนบธรรมเนียมการปกครองที่ท่านเยี่ยนอิงผู้แต่งได้ประสบพบเจอ ในบันทึกนี้ปรากฏมีท่อนหนึ่งว่า "婴相齐景公时,含脱粟之饭,炙祭三戈五卵茗菜而已" อันแปลความได้ว่าครั้งนั้นเยี่ยนอิงร่วมโต๊ะอาหารที่จัดเอาไว้ ที่นั้นมีอาหารไม่กี่จานทั้งสิ้นล้วนแต่ 茗菜而已 (หมิงไฉเอ๋อร์อี่) คำหมิงไฉนี้แปลว่า "ใบชาสดที่ไม่ได้ผ่านการตากแดดหรือทำแห้ง" จากท่อนนี้เองแสดงให้เห็นว่าคนเมื่อสองพันห้าร้อยปีก่อนนั้นรู้จักใบชาจริง ๆ และยังนำมาใช้ทำอาหาร
เรามาพูดถึงชาในแง่มุมที่เป็นเครื่องดื่มกันบ้าง แน่นอนว่าในยุคชุนชิวนี้เองได้เกิดการพัฒนาด้านการปรุงชาเกิดขึ้น หากข้อมูลที่เรียบเรียงนำเสนอไปตอนต้นถึงเรื่องของเสินหนงนั้นมีมูลจริงแรกเริ่มคนจะต้องใช้ใบชาสดต้มน้ำดื่ม ซึ่งควรจะเป็นเช่นนี้ตลอดมาจนกว่าจะมีผู้พัฒนาการทำใบชาแห้ง ซึ่งนี่เป็นเรื่องในสมัยชุนชิวร่วมยุคกับท่านเยี่ยนอิงในวรรคบน ด้วยความที่ใบชาหายากและมีราคาสูงอีกทั้งถือได้ว่าเป็นยาแก้ไขพิษที่สำคัญ ใช้เป็นเครื่องดื่ม ใช้ประกอบอาหารถือว่าเป็นพืชที่มีคุณูปการชนิดหนึ่ง แนวคิดการที่จะเก็บรักษาใบชาเอาไว้ให้ได้นานได้เกิดขึ้น
จากศัพทานุกรมเล่มแรกของโลกที่มีชื่อว่า 尔雅 (เอ๋อร์หยา) ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบสามคัมภีร์โบราณอันเกิดขึ้นในช่วงชุนชิวนี้เองได้บันทึกถึงเรื่องชาเอาไว้ว่าชานั้น "可煮作羹饮" (เขอจู่จั้วเกิงอิ่น) ความคือนำมาต้มดื่มเป็นเครื่องดื่ม วรรคนี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพของการใช้ชาสมัยนั้นว่าเป็นอย่างไร
ผู้รจนาคัมภีร์เอ๋อร์หยานี้เป็นชาวแคว้นจิ้น (晋) อันอยู่ชายขอบทางตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนพื้นที่ที่เสินหนงอ้างว่าได้ชิมพืชพันธุ์ร้อยชนิดนั้นกลับอยู่ทางตะวันออกซึ่งในขณะนั้นคือแคว้นหลู่ (鲁) แคว้นจิ้นนั้นเป็นพื้นที่แห้งแล้งโดยธรรมชาติ ภูมิประเทศล้อมรอบด้วยหุบเขา ลักษณะเช่นนี้ประการแรกยากต่อการเดินทางขนส่ง สองคือสภาพแวดล้อมไม่ใคร่เหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นชา นอกจากจะมีการต้มชาดังที่บันทึกลงในเอ๋อร์หยาแล้วชาที่เข้าสู่แคว้นจิ้นโดยมากควรจะต้องเป็นชาที่เดินทางจากแคว้นอื่นเข้ามา ผิดกับคว้นหลู่ที่อยู่บนพื้นราบชายขอบด้านตะวันตกเป็นที่ราบสูงสลับหุบเขามีความชุ่มชื